วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ทฤษฎีการเรียนรู้

          แนวความคิดในเรื่องของการเรียนรู้ของมนุษย์  ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักปรัชญาและนักจิตวิทยามาแต่ในอดีต ซึ่งต่างก็ได้แสดงทัศนะกันไว้อย่างหลากหลาย แนวคิดเหล่านั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการไปในแต่ละยุคแต่ละสมัย  รวมทั้งได้ขยายขอบเขตไปสู่เรื่องของการจัดการศึกษาและการสอน  การศึกษาแนวคิดในอดีต  นอกจากจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของการจัดการศึกษาและเกิดแนวความคิดใหม่ๆ แล้วยังเป็นการทบทวนภูมิปัญญาของนักคิดในอดีตซึ่งอาจจะตกหล่นสูญหายหรือเสื่อมความนิยมไปด้วยกาลและสมัยแต่อาจยังทรงคุณค่ามหาศาลต่อการเรียนรู้ของมนุษย์
         ทฤษฎีการเรียนรู้เป็นแนวความคิดที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถใช้อธิบายลักษณะของการเกิดการเรียนรู้  หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ ส่วนหลักการสอนก็คือ แนวคิดที่เป็นหลักของการปฏิบัติทางการสอนที่สอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ต่างๆ
          ทฤษฎีการเรียนรู้สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม  ดังต่อไปนี้
          1.   ทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้ช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20
          2.   ทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20
          3.  ทฤษฎีการเรียนรู้และการสอนร่วมสมัย

1.   ทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้ช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20
              1.1   ทฤษฎีของกลุ่มที่เน้นการฝึกจิตหรือสมอง (Mental Discipline)  นักคิดกลุ่มนี้มีความเชื่อว่า  จิตหรือสมองหรือสติปัญญา (mind)  สามารถพัฒนาให้ปราดเปรื่องได้โดยการฝึก ในการฝึกจิตหรือสมองนี้ทำได้โดยให้บุคคลเรียนรู้สิ่งที่ยาก ๆ ยิ่งยากมากเท่าไร จิตก็จะได้รับการฝึกให้แข็งแกร่งขึ้นเท่านั้น หลักการในการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้เน้นการพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  โดยการกระตุ้นความรู้ในตัวผู้เรียนให้แสดงออกมา  วิธีการสอนแบบโสเครติส (Socratic Method)  และวิธีการสอนแบบบรรยาย (Didactic Method)  เป็นวิธีการสอนตามทฤษฏีนี้ที่ใช้คำถามเพื่อดึงความรู้ในตัวผู้เรียนออกมาให้กระจ่างชัดและช่วยเพิ่มเติมประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน  ซึ่งเป็นวิธีการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี
              1.2   ทฤษฎีของกลุ่มที่เน้นการพัฒนาไปตามธรรมชาติ (Natural Unfoldment)  นักคิดกลุ่มนี้มีความเชื่อว่า  ธรรมชาติคือแหล่งเรียนรู้สำคัญ  เด็กควรจะได้เรียนรู้ไปตามธรรมชาติ  การใช้ของจริงเป็นสื่อในการสอนจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ดี  การเล่นเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญของเด็ก  เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็กๆ  เด็กมีสภาวะของเด็ก  ซึ่งแตกต่างไปจากวัยอื่น  การจัดการศึกษาให้เด็กจึงควรพิจารณาระดับอายุเป็นหลัก   การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้เน้นการจัดประสบการณ์เรียนรู้ให้แก่เด็กจะต้องมีความแตกต่างไปจากการจัดให้ผู้ใหญ่  และยึดเด็กเป็นศูนย์กลางให้เสรีภาพแก่เด็กได้เรียนรู้ตามความต้องการและความสนใจของตน  ให้เด็กได้เรียนรู้ตามธรรมชาติและเป็นไปตามธรรมชาติ  โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและความพร้อมของเด็ก
              1.3   ทฤษฎีของกลุ่มที่เน้นการรับรู้และการเชื่อมโยงความคิด(Apperception) นักคิดกลุ่มนี้มีความเชื่อว่า การเรียนรู้เกิดจากแรงกระตุ้นภายนอกหรือสิ่งแวดล้อม (neutral - passive)  การเรียนรู้เกิดจากการที่บุคคลได้รับประสบการณ์ผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 (sensation)  และความรู้สึก (feeling) คือ การตีความหรือแปลความหมายจากการสัมผัส  การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้จึงเน้นให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง 5  และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจได้เป็นอย่างดี
 2.   ทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20
               2.1   ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) นักคิดในกลุ่มนี้มองธรรมชาติของมนุษย์ในลักษณะที่เป็นกลาง  คือ  ไม่ดี ไม่เลว  การกระทำต่างของมนุษย์เกิดจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมภายนอก  พฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้า(stimulus response)  การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง  กลุ่มพฤติกรรมนิยมให้ความสนใจกับ   ”พฤติกรรม”  มากเพราะพฤติกรรมเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด  สามารถวัดและทดสอบได้  ทฤษฏีการเรียนรู้ในกลุ่มนี้  ประกอบด้วยแนวคิดสำคัญๆ 3 แนวด้วยกัน  คือ
                          -   ทฤษฎีการเชื่อมโยง (Classical Connectionism)   ของธอร์นไดค์
(Thorndike)  มีความเชื่อว่าการเรียนรู้เกิดจาการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง  ซึ่งมีหลายรูปแบบ  บุคคลจะมีการลองผิดลองถูกปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบรูปแบบการตอบสนองที่สามารถให้ผลที่พึงพอใจมาก ที่สุด  เมื่อเกิดการเรียนรู้แล้ว  บุคคลจะใช้รูปแบบการตอบสนองที่เหมาะสมเพียงรูปแบบเดียว  และจะพยายามใช้รูปแบบนั้นเชื่อมโยงกับสิ่งเร้าในการเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ  การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้จึงเน้นที่การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนแบบลองผิดลองถูกบ้าง  มีการสำรวจความพร้อมของผู้เรียนซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องกระทำก่อนการสอนบทเรียน  เมื่อผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แล้วครูควรฝึกให้ผู้เรียนฝึกการนำการเรียนรู้นั้นไปใช้บ่อยๆ  การศึกษาว่าสิ่งใดเป็นสิ่งเร้าหรือรางวัลที่ผู้เรียนพึงพอใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
                        -   ทฤษฎีการวางเงื่อนไข (Conditioning Theory)   ประกอบด้วยทฤษฏีย่อย 4 ทฤษฏี  ดังนี้  1)  ทฤษฏีการวางเงื่อนไขแบบอัตโนมัติของพาฟลอฟ (Pavlov’s Classical Conditioning)   เน้นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข  สรุปแนวคิดตามทฤษฏีนี้ได้ว่า  การเรียนรู้ของสิ่งมีชีวิตเกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข  2) ทฤษฏีการวางเงื่อนไขแบบอัตโนมัติของวัตสัน (Watson’s Classical Conditioning)  เน้นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขเช่นกัน สรุปแนวคิดตามทฤษฏีนี้ได้ว่า  การเรียนรู้จะคงทนถาวรหากมีการให้สิ่งเร้าที่สัมพันธ์กันนั้นควบคู่กันไปอย่างสม่ำเสมอ  3)  ทฤษฏีการวางเงื่อนไขแบบต่อเนื่องของกัทธรี (Guthrie’s Contiguous Conditioning)  เน้นหลักการจูงใจ  สรุปแนวคิดตามทฤษฏีนี้ได้ว่า  การเรียนรู้เมื่อเกิดขึ้นแล้วแม้เพียงครั้งเดียว  ก็นับว่าได้เรียนรู้แล้วไม่จำเป็นต้องทำซ้ำอีก  4)  ทฤษฏีการวางเงื่อนไขแบบโอเปอร์แรนต์ของสกินเนอร์ (Skinner’s Operant Conditioning)  เน้นการเสริมแรงหรือให้รางวัล  สรุปแนวคิดตามทฤษฏีนี้ได้ว่า  การกระทำใดๆ ถ้าได้รับการเสริมแรงจะมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีก  การเสริมแรงที่แปรเปลี่ยนทำให้การตอบสนองคงทนกว่าการเสริมแรงที่ตายตัว  การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้จึงเน้นที่การเสนอสิ่งเร้าในการเรียนการสอน  การจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง  มีการแสริมแรงหรือให้รางวัลเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความพึงพอใจที่จะเรียนรู้
                        -   ทฤษฏีการเรียนรู้ของฮัลล์ (Hull’s Systematic Behavior Theory)  มีความเชื่อว่าถ้าร่างกายเมื่อยล้า  การเรียนรู้จะลดลง  การตอบสนองต่อการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีที่สุดเมื่อได้รับแรงเสริมในเวลาใกล้บรรลุเป้าหมาย  หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้จึงมักคำนึงถึงความพร้อม  ความสามารถและเวลาที่ผู้เรียนจะเรียนได้ดีที่สุด  การจัดการเรียนการสอนควรให้ทางเลือกที่หลากหลายเพื่อตอบสนองระดับความสามารถของผู้เรียน
               2.2   ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพุทธินิยม (Cognitivism)  เน้นกระบวนการทางปัญญาหรือความคิด  ซึ่งเป็นกระบวนการภายในของสมอง  นักคิดกลุ่มนี้มีความเชื่อว่าการเรียนรู้ของมนุษย์ไม่ใช่เรื่องของพฤติกรรมที่เกิดจากกระบวนการตอบสนองต่อสิ่งเร้าเพียงเท่านั้น  การเรียนรู้ของมนุษย์มีความซับซ้อนยิ่งไปกว่านั้น  การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางความคิดที่เกิดจากการสะสมข้อมูล  การสร้างความหมายและความสัมพันธ์ของข้อมูลและการดึงข้อมูลออกมาใช้ในการกระทำและการแก้ปัญหาต่างๆ  การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสติปัญญาของมนุษย์ในการที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ตนเอง  ทฤษฏีในกลุ่มนี้ที่สำคัญๆ มี  5  ทฤษฏี  คือ  
                        -   ทฤษฎีเกสตัลท์ (Gestalt Theory)  แนวความคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของทฤษฏีนี้ คือ  การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางความคิดซึ่งเป็นกระบวนการภายในตัวมนุษย์  บุคคลจะเรียนรู้จากสิ่งเร้าที่เป็นส่วนรวมได้ดีกว่าส่วนย่อย  หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้จะเน้นกระบวนการคิด  การสอนโดยเสนอภาพรวมก่อนการเสนอส่วนย่อย  ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีประสบการณ์มากและหลากหลายซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามรถคิดแก้ปัญหา  คิดริเริ่มและเกิดการเรียนรู้แบบหยั่งเห็นได้
                        -   ทฤษฎีสนาม (Field Theory)  แนวความคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของทฤษฏีนี้ คือ  การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีแรงจูงใจหรือแรงขับที่จะกระทำให้ไปสู่จุดหมายปลายทางที่ตนต้องการ  หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้เน้นการเข้าไปอยู่ใน โลก ของผู้เรียน  การสร้างแรงจูงใจหรือแรงขับโดยการจัดสิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพและจิตวิทยาให้ดึงดูดความสนใจและสนองความต้องการของผู้เรียนเป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
                        -   ทฤษฎีเครื่องหมาย (Sign Theory) ของทอลแมน (Tolman) แนวความคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของทฤษฏีนี้ คือ การเรียนรู้เกิดจากการใช้เครื่องหมายเป็นตัวชี้ทางให้แสดงพฤติกรรมไปสู่จุดหมายปลายทาง หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้เน้นการสร้างแรงขับและหรือแรงจูงใจให้ผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายใด ๆ โดยใช้เครื่องหมาย สัญลักษณ์หรือสิ่งอื่นๆ ที่เป็นเครื่องชี้ทางควบคู่ไปด้วย
                             -   ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา(Intellectual Development Theory)  นักคิดคนสำคัญของทฤษฏีนี้มีอยู่  2  ท่าน  ได้แก่  เพียเจต์(Piaget)  และบรุนเนอร์(Bruner)  แนวความคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของทฤษฏีนี้เน้นเรื่องพัฒนาการทางสติปัญญญาของบุคคลที่เป็นไปตามวัยและเชื่อว่ามนุษย์เลือกที่จะรับรู้สิ่งที่ตนเองสนใจและการเรียนรู้เกิดจากระบวนการการค้นพบด้วยตนเอง หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้ คือ คำนึงถึงพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียนและจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการนั้น  ให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์และมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมมากๆ ควรเด็กได้ค้นพบการเรียนรู้ด้วยตนเอง  ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้คิดอย่างอิสระและสอนการคิดแบบรวบยอดเพื่อช่วยส่งงเสริมความคิดสร้างสรรค์ของผุ้เรียน
                             -   ทฤษฏีการเรียนรู้อย่างมีความหมาย (A Theory of Meaningful Verbal Learning)  ของออซูเบล(Ausubel)  เชื่อว่า  การเรียนรู้จะมีความหมายแก่ผู้เรียน  หากการเรียนรู้นั้นสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่รู้มาก่อน  หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้  คือ  มีการนำเสนอความคิดรวบยอดหรือกรอบมโนทัศน์  หรือกรอบแนวคิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแก่ผู้เรียนก่อนการสอนเนื้อหาสาระนั้นๆ  จะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนเนื้อหาสาระนั้นอย่างมีความหมาย
             2.3   ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษยนิยม (Humanism)  นักคิดกลุ่มมานุษยนิยมให้ความสำคัญของความเป็นมนุษย์และมองมนุษย์ว่ามีคุณค่า  มีความดีงาม  มีความสามารถ  มีความต้องการ  และมีแรงจูงใจภายในที่จะพัฒนาศักยภาพของตน  หากบุคคลมีอิสระภาพและเสรีภาพ  มนุษย์จะพยายามพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  ทฤษฏีและแนวคิดที่สำคัญๆ ในกลุ่มนี้มี  2  ทฤษฏีและ 5 แนวคิด  คือ
                             -   ทฤษฎีการเรียนรู้ของมาสโลว์ แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของทฤษฏีคือ  มนุษย์ทุกคนมีความต้องการพื้นฐานตามธรรมชาติเป็นลำดับขั้น  และต้องการที่จะรู้จักตนเองและพัฒนาตนเอง  หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้เน้นการเข้าถึงความต้องการพื้นฐานของผู้เรียน  และตอบสนองความต้องการพื้นฐานนั้นอย่างพอเพียง  ให้อิสรภาพและเสรีภาพแก่ผู้เรียนในการเรียนรู้  มีการจัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ซึ่งช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์ในการรู้จักตนเองตามสภาพความเป็นจริง
                             -   ทฤษฎีการเรียนรู้ของรอเจอร์  แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของทฤษฏีนี้  คือ  มนุษย์สามารถพัฒนาตนเองได้ดีหากอยู่ในสภาวะที่ผ่อนคลายและเป็นอิสระ  การจัดบรรยากาศที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการเรียนเรียนรู้และเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยครูเป็นผู้ชี้แนะและทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนและการเรียนรู้จะเน้นกระบวนการเป็นสำคัญ  หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้เน้นการเรียนรู้กระบวนการเป็นสำคัญ  ควรจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนให้อบอุ่น  ปลอดภัย  ครูควรสอนแบบชี้แนะโดยให้ผู้เรียนเป็นผู้นำทางในการเรียนรู้ของตนและคอยช่วยเหลือผู้เรียนให้เรียนอย่างสะดวกจนบรรลุผล
                             -   แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของโคมส์  เชื่อว่าความรู้สึกของผู้เรียนมีความสำคัญต่อการเรียนรู้มาก  เพราะความรู้สึกและเจตคติของผู้เรียนมีอิทธิพลต่อกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน  หลักการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดนี้จึงเน้นถึงความรู้สึกของผู้เรียนเป็นหลัก  การสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี
                             -   แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของโนลส์  เชื่อว่าผู้เรียนจะเรียนรู้ได้มากหากมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ มีอิสระที่จะเรียนและได้รับการส่งเสริมในการพัฒนาด้วยตนเอง หลักการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดนี้เน้นการให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียน  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกสิ่งที่เรียนและวิธีเรียนด้วยตนเอง  ลงมือกระทำและยอมรับผลของการตัดสินใจหรือการกระทำของตนเอง
                             -   แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของแฟร์   เชื่อว่าผู้เรียนต้องถูกปลดปล่อยจากการกดขี่ของครูที่สอนแบบเก่า  ผู้เรียนมีศักยภาพและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง  หลักการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดนี้เน้นการให้อิสรภาพและเสรีภาพในการเรียนรู้แก่ผู้เรียน
                             -   แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของอิลลิช  เชื่อว่าสังคมแห่งการเรียนรู้เป็นสังคมที่ต้องล้มเลิกระบบโรงเรียน  การศึกษาควรเป็นการศึกษาตลอดชีวิตแบบเป็นไปตามธรรมชาติ  โดยให้โอกาสในการศึกษาเล่าเรียนแก่บุคคลอย่างเต็มที่  หลักการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดนี้เน้นการจัดการศึกษาต่อเนื่องไปตลอดชีวิตไปตามธรรมชาติ
                             -   แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของนีล เชื่อว่ามนุษย์เป็นผู้มีศักดิ์ศรี  มีความดีโดยธรรมชาติ  หากมนุษย์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น  บริบูรณ์ด้วยความรัก  มีอิสรภาพและเสรีภาพ  มนุษย์จะพัฒนาไปในทางที่ดีทั้งต่อตนเองและสังคม  หลักการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดนี้  คือ  การให้เสรีภาพอย่างสมบูรณ์แก่ผู้เรียนในการเรียน จัดให้เรียนเมื่อพร้อมจะเรียนจะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาไปตามธรรมชาติ
                 2.4   ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มผสมผสานของกานเย (Gagne’s eclecticism)    แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ของทฤษฏีนี้ คือ  ความรู้มีหลายประเภท  บางประเภทสามารถเข้าใจได้อย่างรวดเร็วไม่ต้องใช้ความคิดที่ลึกซึ้ง  บางประเภทมีความซับซ้อนมาก  จำเป็นต้องใช้ความสามารถในขั้นสูง  หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้  คือ  การจัดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบซึ่งเริ่มจากง่ายไปหายากมีทั้งหมด 9  ขั้น  ดังนี้ 
                             ขั้นที่  1  สร้างความสนใจ (Gaining attention) 
                             ขั้นที่  2  แจ้งจุดประสงค์ (Informing the learning) 
                             ขั้นที่  3  กระตุ้นให้ผู้เรียนระลึกถึงความรู้เดิมที่จำเป็น (Stimulating recall of prerequisite learned capabilities) 
                             ขั้นที่  4  เสนอบทเรียนใหม่ (Presenting the stimulus) 
                             ขั้นที่  5  ให้แนวทางการเรียนรู้ (Providing learning guidance) 
                             ขั้นที่  6  ให้ลงมือปฏิบัติ (Eliciting the performance) 
                             ขั้นที่  7  ให้ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) 
                             ขั้นที่  8  ประเมินพฤติกรรมการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ (Assessing the performance) 
                             ขั้นที่  9  ส่งเสริมความแม่นยำและการถ่ายโอนการเรียนรู้ (Enhancing retention and transfer)
3.  ทฤษฎีการเรียนรู้และการสอนร่วมสมัย
             3.1   ทฤษฎีกระบวนการทางสมองในการประมวลข้อมูล (Information Processing Theory)  เป็นทฤษฏีที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์  โดยให้ความสนใจเกี่ยวกับการทำงานของสมอง  ทฤษฏีนี้มีแนวคิดว่า  การทำงานของสมองมนุษย์มีความคล้ายคลึงกับการทำงานของคอมพิวเตอร์   หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้  คือ  การนำเสนอสิ่งเร้าที่ผู้เรียนรู้จักหรือมีข้อมูลอยู่จะสามารถช่วยให้ผู้เรียนหันมาใส่ใจและรับรู้สิ่งนั้น  จัดสิ่งเร้าในการเรียนรู้ให้ตรงกับความสนใจของผู้เรียน  สอนให้ฝึกการจำโดยใช้วิธีการที่หลากหลาย  หากต้องการให้ผู้เรียนจดจำเนื้อหาสาระใดๆ  ได้เป็นเวลานาน  สาระนั้นจะต้องได้รับการเข้ารหัส (encoding)  เพื่อนำไปเข้าหน่วยความจำระยะยาว  วิธีการเข้ารหัสสามารถทำได้หลายวิธี  เช่น  การท่องจำซ้ำๆ  การทบทวน  หรือการใช้กระบวนการขยายความคิด
                3.2   ทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) ทฤษฏีนี้มีความเชื่อพื้นฐานที่สำคัญ  2  ประการ คือ
                       1.  เชาวน์ปัญญาของบุคคลมิได้มีเพียงความสามารถทางภาษาและทางคณิตศาสตร์เท่านั้น แต่มีอยู่อย่างหลากหลายถึง 8 ประเภทด้วยกัน  ประกอบด้วย 
                                      -   เชาวน์ปัญญาด้านภาษา (Linguistic intelligence)
                                      -   เชาวน์ปัญญาด้านคณิตศาสตร์หรือการใช้เหตุผลเชิงตรรกะ(Logical mathematical intelligence) 
                                      -   สติปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Spatial intelligence) 
                                      -   เชาวน์ปัญญาด้านดนตรี (Musical intelligence)
                                      -   เชาวน์ปัญญาด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและกล้ามเนื้อ(Bodily kinesthetic intelligence)
                                      -   เชาวน์ปัญญาด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น (Interpersonal intelligence)
                                      -   เชาวน์ปัญญาด้านความเข้าใจตนเอง (Intrapersonal intelligence)
                                      -   เชาวน์ปัญญาด้านความเข้าใจธรรมชาติ (Naturalist intelligence)
เชาวน์ปัญญาของแต่ละคนอาจจะมีมากกว่านี้  คนแต่ละคนจะมีความสามารถเฉพาะด้านที่แตกต่างไปจากคนอื่น  และมีความสามารถในด้านต่างๆ ไม่เท่ากัน  ความสามารถที่ผสมผสานกันออกมา  ทำให้บุคคลแต่ละคนมีแบบแผนซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน
                  2.   เชาวน์ปัญญาของแต่ละบุคคลจะไม่อยู่คงที่อยู่ที่ระดับที่ตนมีตอนเกิด แต่สามารถเปลี่ยนแปลง
ได้ หากได้รับการส่งเสริมที่เหมาะสม
                       หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้  คือ  มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายที่สามารถส่งเสริมเชาวน์ปัญญาหลายๆ ด้าน  ให้เหมาะสมกับขั้นพัฒนาการของผู้เรียน  การสอนควรเน้นการส่งเสริมความเป็นเอกลักษณ์ของผู้เรียน  ครูควรสอนโดนเน้นให้ผู้เรียนค้นหาเอกลักษณ์ของตน  ภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของตนเอง  และเคารพในเอกลักษณ์ของผู้อื่น รวมทั้งเห็นคุณค่าและเรียนรู้ที่จะใช้ความแตกต่างของแต่ละบุคคลให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม  ระบบการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ควรมีการประเมินหลายๆ ด้าน  และในแต่ละด้านควรเป็นการประเมินในสภาพการณ์ของปัญหาที่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยอุปกรณ์ที่สัมพันธ์กับเชาวน์ปัญญาด้านนั้นๆ  การประเมินจะต้องครอบคลุมความสามารถในการแก้ปัญหาหรือการสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้อุปกรณ์ที่สัมพันธ์กับเชาวน์ปัญญาด้านนั้นๆ อีกวิธีหนึ่ง
            3.3   ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง(Constructivism)  เป็นทฤษฏีที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการและวิธีการของบุคคลในการสร้างความรู้ความเข้าใจจากประสบการณ์  รวมทั้งโครงสร้างทางปัญญาและความเชื่อที่ใช้ในการแปลความหมายเหตุการณ์และสิ่งต่างๆ  เป็นกระบวนการที่ผู้เรียนจะต้องจัดกระทำกับข้อมูล  นอกจากกระบวนการเรียนรู้จะเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ภายในสมองแล้ว  ยังเป็นกระบวนการทางสังคมด้วย  การสร้างความรู้จึงเป็นกระบวนการทั้งด้านสติปัญญาและสังคมควบคู่กันไป  หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้จะมุ่งเน้นไปที่กระบวนการสร้างความรู้(process of knowledge construction)  เป้าหมายของการสอนจะเปลี่ยนจากการถ่ายทอดให้ผู้เรียนได้รับสาระความรู้ที่แน่นอนตายตัว   ไปสู่การสาธิตกระบวนการแปลและสร้างความหมายที่หลากหลาย  ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้จัดกระทำกับข้อมูลหรือประสบการณ์ต่างๆ  และจะต้องสร้างความหมายให้กับสิ่งนั้นด้วยตนเอง  โดยการให้ผู้เรียนอยู่ในบริบทจริง  ในการจัดการเรียนการสอนครูจะต้องพยายามสร้างบรรยากาศทางสังคมจริยธรรมให้เกิดขึ้น  ผู้เรียนได้มีบทบาทในการเรียนรู้อย่างเต็มที่โดยผู้เรียนจะนำตนเองและควบคุมตนเองในการเรียนรู้  บทบาทของครูจะเป็นผู้ให้ความร่วมมือ  อำนวยความสะดวกและช่วยเหลือผู้เรียนในการเรียนรู้  การประเมินผลการเรียนรู้ตามทฤษฏีนี้มีลักษณะที่ยืดหยุ่นกันไปในแต่ละบุคคล  การประเมินควรใช้วิธีการที่หลากหลาย  การวัดผลจะต้องใช้กิจกรรมหรืองานในบริบทจริงด้วย  ซึ่งในกรณีที่จำเป็นต้องจำลองของจริงมา  ก็สามารถทำได้  แต่เกณฑ์ที่ใช้ควรเป็นเกณฑ์ที่ใช้ในโลกความจริงด้วย
          3.4   ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน(Constructionism)  แนวคิดของทฤษฏีนี้ คือ  การเรียนรู้ที่ดีเกิดจากการสร้างพลังความรู้ในตนเอง  หากผู้เรียนมีโอกาสได้สร้างความคิดและนำความคิดของตนเองไปสร้างสรรค์ชิ้นงานโดยอาศัยสื่อและเทคโนโลยีที่เหมาะสม  จะทำให้ความคิดเห็นนั้นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น    หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้ คือ  ครูจะต้องทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้แก่ผู้เรียน  ให้คำปรึกษาชี้แนะแก่ผู้เรียน  เกื้อหนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ  ในการประเมินผลนั้นต้องมีการประเมินทั้งทางด้านผลงานและกระบวนการซึ่งสามารถใช้วิธีการที่หลากหลาย  เช่น  การประเมินตนเอง  การประเมินโดยครูและเพื่อน  การสังเกต  การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมงาน
              3.5   ทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Theory of Cooperative or Collaborative Learning)  แนวคิดของทฤษฏีนี้ คือ  การเรียนรู้เป็นกลุ่มย่อยโดยมีสมาชิกกลุ่มที่มีความสามารถแตกต่างกันประมาณ 3 6 คน  ช่วยกันเรียนรู้เพื่อไปสู่เป้าหมายของกลุ่ม  โดยผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในลักษณะแข่งขันกัน  ต่างคนต่างเรียนและร่วมมือกันหรือช่วยกันในการเรียนรู้  การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้จะเน้นให้ผู้เรียนช่วยกันในการเรียนรู้ โดยมีกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนมีการพึ่งพาอาศัยกันในการเรียนรู้  มีการปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด  มีการสัมพันธ์กัน  มีการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม  มีการวิเคราะห์กระบวนการของกลุ่ม  และมีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบงานร่วมกัน   ส่วนการประเมินผลการเรียนรู้ควรมีการประเมินทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ โดยวิธีการที่หลากหลายและควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมิน  และครูควรจัดให้ผู้เรียนมีเวลาในการวิเคราะห์การทำงานกลุ่มและพฤติกรรมของสมาชิกกลุ่ม  เพื่อให้กลุ่มมีโอกาสที่จะปรับปรุงส่วนบกพร่องของกลุ่ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น